เริ่มต้นการลงทุนอย่างมั่นใจใน Derivative Warrant

 

ปวริศวร์ ภูริเวทย์คุณากร, CFA

ผู้จัดการ
ฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

ในสมัยก่อนนั้นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงและต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากอาจจะมีเพียงแค่การเล่น “หุ้น” เพียงอย่างเดียว ซึ่งการเล่นหุ้นนั้นจะได้ผลตอบแทนที่ดีก็ต่อเมื่อตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า ตอนนี้นอกจากการลงทุนในหุ้นแบบเดิมแล้ว ยังมีทางเลือกการลงทุนที่เหมาะกับสภาวะตลาดทั้งขาขึ้นและขาลงอีกด้วย ซึ่งก็คือ การลงทุนใน Derivative Warrant หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า DW นั่นเอง

พอได้ยินคำว่า DW อาจทำให้นักลงทุนบางท่านอาจจะตกใจคิดว่าเป็นการลงทุนที่ “ฟังดูเข้าใจยากจัง” หรือ “เล่นแต่หุ้นอย่างเดียวดีกว่า เพราะมันเป็นสิ่งที่คุ้นเคยอยู่แล้ว” แต่รู้หรือไม่ว่า DW นั้นจริงๆแล้ว ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดเลย การเรียนรู้เกี่ยวกับ DW นั้น ขอแค่ลองเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ แล้วจะพบว่าเป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีลูกเล่นน่าสนใจมากมาย

วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงประโยชน์ตลอดจนความเสี่ยงของการลงทุนใน DW กันเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนก่อนจะทำการซื้อขายจริงกันครับ

Derivative Warrant คืออะไร ?
Derivative Warrant หรือ DW คือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ซึ่งก็คือตราสารทางการเงินที่ผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิฯ (“ผู้ออก”) ให้สิทธิกับผู้ซื้อในการซื้อ (สิทธิซื้อ-Call DW) หรือขาย (สิทธิขาย-Put DW) หุ้นหรือดัชนีอ้างอิง (“สินทรัพย์อ้างอิง”) ในอนาคตที่ราคา จำนวนและเวลาที่ผู้ออกกำหนด

ประเภทของ Derivative Warrant (Call DW และ Put DW)
Call DW ใช้ลงทุน ในสภาวะตลาดขาขึ้นเนื่องจากราคาของ Call DW โดยทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นตามราคาสินทรัพย์อ้างอิง ส่วนราคาของ Put DW นั้นโดยทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง จึงเหมาะที่จะใช้ลงทุนในสภาวะตลาดขาลง

การซื้อขาย DW ในตลาดหลักทรัพย์และชื่อย่อในการซื้อขาย
นักลงทุนสามารถซื้อขาย DW ได้บนกระดานซื้อขายหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงแต่ชื่อย่อในการซื้อขาย DW นั้นจะยาวกว่าชื่อหุ้นปกติทั่วไป แต่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก นี่คือวิธีการระบุรายละเอียดและวิธีอ่านชื่อย่อของ DW แบบปัจจุบัน


UUUU ชื่อย่อสินทรัพย์อ้างอิงสูงสุดไม่เกิน 4 ตัวอักษรแรก เช่น DW ที่อ้างอิงบนหุ้น PTT จะใช้ชื่อย่อ PTT, DW ที่อ้างอิงบนหุ้น ADVANC จะใช้ชื่อ ADVA ส่วนในกรณีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นดัชนี SET50 จะใช้ชื่อย่อ S50 เป็นต้น
II รหัสผู้ออก 2 หลัก หมายถึง หมายเลขสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ฯของผู้ออก
C ประเภท DW - สิทธิซื้อ (Call DW) แทนด้วย C, สิทธิขาย (Put DW) แทนด้วย P
YYMM ชื่อย่อของปี คศ. และเดือนของวันซื้อขายวันสุดท้าย (Last trading month)
A รุ่น โดยเรียงจาก A-Z ตามรุ่นที่มี Last Trading Month และมีสินทรัพย์อ้างอิงเดียวกัน โดย DW ที่หมดอายุก่อนจะเป็นรุ่น A


ตัวอย่างเช่น DW ชื่อ ADVA06C1605A คือ DW ที่อ้างอิงบนหุ้น ADVANC (ตัวย่อ 4 ตัวแรกคือ ADVA) ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (รหัสผู้ออกคือ 06) ประเภทสิทธิในการซื้อ (Call DW) มีวันซื้อขายสุดท้ายอยู่ในเดือนพฤษภาคม 2559 (ปี 2016 เดือน 5) รุ่น A

ข้อควรระวัง :
ชื่อย่อของ DW จะระบุแค่เดือนและ ค.ศ. ของวันซื้อขายสุดท้ายของ DW เท่านั้น ดังนั้น นักลงทุนควรตรวจสอบวันซื้อขายสุดท้ายจากเอกสารสรุปข้อมูล (Factsheet) ของ DW แต่ละรุ่นได้ที่เว็บไซต์ของตลาดฯหรือเว็บไซต์ของผู้ออก DW ด้วย

ประโยชน์ของ Derivative Warrant
นักลงทุนอาจจะสงสัยว่า DW มีข้อดีอย่างไรบ้างและต่างจากหุ้นปกติอย่างไร ประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนใน DW คือ

  1. ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรง
  2. เป็นการลงทุนที่มีอัตราทด (Effective Gearing) สูง ทำให้มีโอกาสทำกำไรแม้ราคาสินค้าอ้างอิงจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดี อาจมีโอกาสที่ความผันผวนของราคา DW จะแตกต่างจากราคาสินทรัพย์อ้างอิงได้เช่นกัน
  3. สามารถทำกำไรได้ไม่จำกัด แต่สามารถจำกัดผลขาดทุนได้ซึ่งเท่ากับมูลค่าของ DW ที่ลงทุนเริ่มแรก
  4. สามารถซื้อขายได้เสมือนหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ วิธีการซื้อขายไม่ยุ่งยากและเป็นลักษณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่คุ้นเคย
  5. ซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ได้ทุกแห่ง
  6. มีสภาพคล่องสูงเนื่องจากมีผู้ดูแลสภาพคล่อง(Market Maker) คอยดูแลสภาพคล่องเพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขาย DW ได้ตลอดเวลา
  7. ทำกำไรได้ในสภาวะตลาดทั้งขาขึ้นและขาลง
  8. ค่าธรรมเนียมการซื้อขายถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิง เมื่อกำหนดให้ความเสี่ยงบนสินทรัพย์อ้างอิง (Exposure) เท่ากัน

Derivative Warrant เหมาะกับนักลงทุนประเภทไหน ?

  1. เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงกว่าการลงทุนในหุ้นและมีวินัยในการลงทุนที่ดี เนื่องจากผลตอบแทนของ DW จะผันผวนกว่าการลงทุนโดยตรงในสินทรัพย์อ้างอิง
  2. เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการบริหารความเสี่ยง (Hedging)ใน portfolio ของตนเอง เช่น ซื้อ Put DW เพื่อลดการขาดทุนจาก Portfolio หุ้นที่มีอยู่แล้ว

โดยสรุปแล้ว การลงทุนใน DW นั้นมีความสลับซับซ้อนและแตกต่างจากการลงทุนโดยตรงบนสินทรัพย์อ้างอิงอยู่บ้างแต่ก็จะเห็นได้ว่า DW นั้นก็มีประโยชน์มากมาย เช่น เรื่องของอัตราทดและสามารถใช้เป็นเครื่องมือการลงทุนได้ในทุกสภาวะตลาดรวมไปถึงเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง เป็นต้น หากนักลงทุนมีคำถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ ฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ 02-305-9191 เรายินดีให้คำตอบคุณเสมอ

คำเตือน:
การลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ มีความแตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิโดยตรง จึงอาจทำให้ราคาของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวมีความผันผวนแตกต่างจากราคาหลักทรัพย์อ้างอิง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจโครงสร้างการจ่ายผลตอบแทนก่อนทำการตัดสินใจลงทุน

ผลการดำเนินงานในอดีต/ผลการเปรียบเทียบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกบผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นเครื่องยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

เอกสารฉบับบนี้ไม่ใช่คำนำเสนอหรือคำเชิญชวนให้จองซื้อหรือลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ("บริษัท") แต่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ต่อผู้ลงทุน เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการพิจารณาลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จะออกและเสนอขายภายใต้โครงการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ของบริษัท บริษัทมิได้รับรองความครบถ้วน หรือถูกต้องของข้อมูลที่ปรากฏ บริษัทจะไม่รับผิดต่อความเสียหายใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อผู้ลงทุน หรือบุคคลใดๆ ซึ่งเกิดจากการนำข้อมูลนี้ไปใช้ บริษัทอาจเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีข้อสงสัยประการใดโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ดูแลบัญชีของท่าน